ยินดีต้อนรับ

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

สวัสดีปีใหม่ 2555

วันปีใหม่

วันปีใหม่ เป็นวันแรกของปี ตามปฏิทินแบบเกรกอเรียน ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า " ปี" ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน

การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ

วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

การทำบุญในวันขึ้นปีใหม่

เมื่อใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับไฟและธงชาติตามสถานที่สำคัญ ๆ

ครั้นถึงวันที่ 31 ธันวาคม ก็จะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ไปวัด เพื่อประกอบกิจกุศลต่าง ๆ เช่น ฟังพระธรรมเทศนา ถือศีลปฏิบัติธรรม แต่บางคนก็แค่ทำบุญตักบาตร ตอนกลางคืนบางแห่งอาจจัดเทศกาลกินเลี้ยงเป็นที่ครื้นเครงสนุกสนาน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

เช้าวันที่ 1 มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตร ไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ผู้ที่เคารพนับถือ มีการมอบของขวัญและบัตรอวยพรให้แก่กัน

สำหรับในต่างจังหวัด จะมีการทำบุญเลี้ยงพระที่วัด และอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติที่ล่วงลับ กลางคืนมีการละเล่นพื้นบ้านหรือจัดมหรสพมาฉลอง



คติข้อคิดในวันขึ้นปีใหม่
เมื่อวันเวลาผันเปลี่ยนเวียนไปครบ 1 ปี เราได้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงวันขึ้นปีใหม่ ขอให้ลองมองย้อนหลังกลับไปคิดดูว่า วันเวลาที่ผ่านมานั้นเราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือเปล่า และได้กระทำคุณงามความดีอันใดไว้บ้าง และควรหาโอกาสกระทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันเราได้กระทำความผิดหรือสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องไว้หรือไม่ หากมีต้องรีบปรับปรุงแก้ไขตัวเอง


กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่

1. เก็บกวาดดูแลทำความสะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน

2. ทำบุญตักบาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

3. ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

4. ตรวจสอบตัวเอง เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอดปี ว่ามีความเจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน หากมีคั่งค้างก็ต้องเร่งขวนขวายปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ให้ตั้งใจทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

5. หากมีเรื่องบาดหมางหรือขุ่นเคืองกับผู้ใด ในวันนี้ควรถือโอกาสให้อภัยซึ่งกันและกัน เริ่มสานความสัมพันธ์ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยดี


วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิเคราะห์นวัตกรรมทางการศึกษา

ทันที่เราได้ยินคำว่า "นวัตกรรม" เราจะนึกถึงการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือ การบริการรูปแบบใหม่ จะมีใครกี่คนที่จะรู้ว่า ในทางการจัดการก็มีการสร้างนวัตกรรมเช่นเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานในองค์กรธุรกิจ เรามาอ่านและทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันดีกว่า ว่า "นวัตกรรม" มันคืออะไร
Peter Drucker: ให้ความหมายคำว่า "นวัตกรรม" ไว้ว่า "Innovation is The act of introducing something new" เป็นการสร้างสิ่งใหม่ หรือการทำให้แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงมาสร้างให้เป็นโอกาส และต้องมีความชัดเจน และมุ่งเน้นถึงการพัฒนา และที่สำคัญคือต้องมีการลงมือกระทำ นวัตกรรมจึงจะเกิดขึ้น
ทำไมต้องมีนวัตกรรม Michael Porter กล่าวว่า "Innovation is one step remove from today's prosperity. Innovation drives the rate of long run productivity growth an hence future competitiveness." นวัตกรรมเป็นการก้าวไปจากความมั่งคั่งในปัจจุบันก้าวหนึ่ง และนวัตกรรมจะเป็นสิ่งผลักดันให้มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์ในระยะยาวและสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาเหตุของการเกิดนวัตกรรมนอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในระดับมหภาคและระดับจุลภาคแล้ว การแข่งขันในเชิงธุรกิจก็เป็นปัจจัยในการสร้างหรือเกิดนวัตกรรมเพราะการสร้างนวัตกรรมถือได้ว่าเป็นจุดแข็ง และเป็นโอกาสขององค์กรธุรกิจที่จะสร้างความได้เปรียบเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
โดยทั่วไปแล้ว นวัตกรรมสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- Product Innovation เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือพัฒนา ผลิตภัณฑ์และบริการ (Tangible product and Intangible product)
- Process Innovation เป็นนวัตกรรมกระบวนการ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มองในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต โดยจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของความรู้ทางด้านเทคโนโลยี มาพัฒนากระบวนการผลิต
- Organization Innovation เป็นนวัตกรรมที่เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการและบริหารองค์กร ซึ่งจะต้อง ใช้ความรู้ความสามารถในด้านการบริหารการจัดการมาปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่
ซึ่งในที่นี้เราจะกล่าวถึง Organization Innovation หรือนวัตกรรมองค์กร ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการหรือการบริหารองค์กร ซึ่งเป็นการนำเครื่องมือทางการจัดการที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น TQM (Total Quality Management), Six Sigma, Balance Scorecard, Benchmarking เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553